โรคเหงือกอักเสบ ทำให้ฟันโยกฟันหลุดได้จริงหรือ
โรคเหงือก หรือ โรคปริทันต์ เป็นอีกหนึ่งโรคในช่องปากที่เราไม่ควรมองข้าม ถ้าหากเป็นแล้วไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง สุดท้ายเราอาจจะต้องสูญเสียฟันไป การรักษาโรคปริทันต์จำเป็นจะต้องมีการเกลารากฟันด้วยนอกเหนือจากการขูดหินปูนแล้ว เนื่องจากการขูดหินปูนจะเป็นการเอาหินปูนในส่วนที่เกาะผิวฟันเหนือเหงือกออกเท่านั้น ส่วนหินปูนใต้เหงือกจำเป็นจะต้องเอาออกด้วยการเกลารากฟัน ซึ่งการรักษาโรคเหงือก หรือโรคปริทันต์นั้น แนะนำให้ทำการรักษากับทันตแพทย์เฉพาะทางทางด้านโรคเหงือกโดยตรง เนื่องจากทันตแพทย์เฉพาะทางโรคเหงือกจะมีความรู้ ความชำนาญ มีเครื่องมือที่ใช้ในการรักษาที่ดีกว่ามีคุณภาพมากกว่า ซึ่งถ้าเรารู้จักโรคนี้อย่างแท้จริงแล้ว เราจะรู้ว่า การรักษาโรคเหงือกกับทันตแพทย์เฉพาะทางนั้นดีอย่างไร
โรคเหงือก คือ โรคที่เกิดจากเหงือกติดเชื้อจนมีอาการอักเสบ ซึ่งการอักเสบนี้เกิดจากการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย จุดเริ่มต้นอาจดูเหมือนเล็กน้อย แต่หากไม่รีบรักษาอาจส่งผลถึงกระดูกรอบๆตัวฟัน และเนื่อเยื่อปริทันต์รอบๆฟัน ทำให้ฟันโยก และหลุดได้ถ้าเป็นขั้นรุนแรง
ภาพตัวอย่างก่อน-หลังการรักษาโรคเหงือกอักเสบระยะรุนแรง
อาการที่บอกว่ากำลังเป็นโรคเหงือก
ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่องปากอย่ามองข้าม เพราะอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ที่อันตรายยิ่งๆ ขึ้นไปก็ได้ อาการเหล่านั้นคือ
- เหงือกอักเสบจนมีสีแดงขึ้นกว่าปกติ มีเหงือกบวมล้นออกมา
- แปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟันแล้วมีเลือดออก
- มีอาการเจ็บบริเวณเหงือกโดยไม่มีเหตุอย่างอื่น
- มีการอักเสบจนเหงือกบวมเป็นหนอง
- รู้สึกเจ็บขณะเคี้ยวอาหาร ตั้งแต่นิดหน่อยจนถึงเคี้ยวไม่ได้
- มีกลิ่นปากผิดปกติ
สาเหตุที่ทำให้มีอาการเหงือกอักเสบ
โรคเหงือกอักเสบเกิดจากคราบจุลินทรีย์ที่อยู่ตามซอกฟัน และขอบเหงือก ส่วนสาเหตุของคราบจุลินทรีย์นั้นก็เกิดจากการการทำความสะอาดฟันและเหงือกไม่ทั่วถึง เมื่อทิ้งไว้นานจะเกิดเป็นคราบหินปูน เมื่อมีมากขึ้นก็เป็นคราบจุลินทรีย์ที่ร่างกายตอบสนอง เป็นสาเหตุของโรคเหงือกอักเสบ
ใครมีโอกาสเป็นโรคเหงือกบ้าง
โรคเหงือกสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะมีเหตุเบื้องต้นจากการดูแลทำความสะอาดช่องปาก แต่มีคนบางกลุ่มที่มีโอกาสเป็นมากกว่าคือ
- คนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ยิ่งสูบจัดยิ่งมีโอกาสมากขึ้น เนื่องจากคนสูบบุหรี่จะมีสุขภาพที่ทรุดโทรม ความสามารถที่ร่างกายจะสู้กับเชื้อโรคจะต่ำกว่าคนที่แข็งแรง ถ้าแบคทีเรียในคราบพลัคเริ่มทำให้เหงือกอักเสบ ก็จะรักษายาก
- หญิงมีครรภ์ เนื่องจากเป็นช่วงฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
- คนเป็นเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้
- คนที่ดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ
- ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคเหงือกมากกว่าวัยอื่น
- คนที่มีอารมณ์เครียดเป็นประจำ เพราะเมื่อเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ไปเพิ่มสารที่มีฤทธิ์ทำลายเหงือก
- คนที่ใส่เครื่องมือจัดฟัน และดูแลไม่สะอาดพอ เพราะเครื่องมือจัดฟันทำให้ทำความสะอาดยาก
อาการของโรคเหงือกอักเสบ
แบ่งได้ตามอาการดังนี้
- เหงือกอักเสบ อาการเริ่มต้นจะเป็นลักษณะเหงือกบวมแดง อาจมีปัญหาแปรงฟันแล้วเลือดออก กรณีเช่นนี้ สามารถดูแลด้วยตัวเองได้ด้วยการแปรงฟันให้สะอาดเพื่อกำจัดพลัคบนผิวฟัน ใช้ไหมขัดฟันสม่ำเสมอ
- โรครำมะนาด หรือโรคปริทันต์ เป็นความรุนแรงต่อเนื่องจากเหงือกอักเสบ ถ้าปล่อยให้เป็นเรื้อรังก็จะเกิดปัญหา คือแบคทีเรียที่สะสมไว้นาน นอกจากทำให้เกิดร่องลึกระหว่างเหงือกกับรากฟันแล้ว ยังลามไปถึงเนื้อเยื่อและกระดูกขากรรไกรที่ยึดฟันและเหงือกไว้อีก
- ถ้าปล่อยให้เป็นมากขึ้นไปอีก จะเป็นโรคเหงือกที่เนื้อเยื่อถูกทำลาย มีผลทำให้กระดูกรองรับฟันละลาย ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก และส่งผลให้ฟันโยก หรือสูญเสียฟันในอนาคตได้ ซึ่งบางคนอาจไม่เคยคิดมาก่อนว่า ฟันโยก หรือฟันหลุดนี้จะมีต้นเหตุเบื้องต้นมาจากโรคเหงือกอักเสบ
วิธีรักษาโรคเหงือกอักเสบ
เนื่องจากก้าวสู่ระดับมีการทำลายเนื้อเยื่อและกระดูก จะต้องได้รับการดูแลรักษาจากทันตแพทย์เฉพาะทาง ตามลำดับขั้นตอน
- ขั้นแรก ต้องมีการควบคุมโรคเอาไว้ก่อน ไม่ให้ลุกลามไป คือ ต้องรักษาโดยขูดหินน้ำลายและเกลารากฟัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าร่องลึกระหว่างเหงือกกับรากฟันนั้นมากน้อยเพียงใด การรักษาในช่วงนี้ต้องใช้เวลาหลายครั้ง กว่าจะทั่วทั้งปาก การขูดหินปูนเหนือเหงือกและใต้เหงือกนั้น ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทาง
- กรณีที่ไม่สามารถกำจัดหินน้ำลายใต้เหงือกได้หมด อาจต้องผ่าตัดเหงือก ขั้นต่อไปก็เป็นการศัลยกรรมปลูกเหงือก และต่อด้วยศัลยกรรมตกแต่งให้ดูสวยงาม ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคปริทันต์ที่เป็น
- เมื่อรักษาแล้ว ยังต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง เป็นการเฝ้าระวังไม่ให้กลับมาเป็นอีก กล่าวคือ ต้องมีการขูดหินน้ำลายประจำทุก 3-6 เดือนต่อจากนั้น
โรคเหงือกอักเสบที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรร้ายแรง แต่ความจริงแล้วร้ายแรงกว่าที่คิด หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว