การอุดฟัน

การอุดฟัน เป็นการรักษาทางทันตกรรมอย่างหนึ่ง เป็นวิธีที่ทันตแพทย์มักจะให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีปัญหาฟันผุ ฟันแตกหรือฟันบิ่น ฟันสึก หรือฟันกร่อน เพื่อป้องกันไม่ให้รอยโรคนั้นลุกลามไปมากกว่าเดิมที่เป็นอยู่ และยังเป็นการคงสภาพฟันซี่ข้างเคียงให้สวยงาม และใช้งานได้ตามปกติเหมือนเดิม

โดยปกติแล้วการอุดฟันจะใช้สำหรับการทดแทนเนื้อฟันที่สูญเสียไปเพียงบ้างส่วน ยังสามารถทำการบูรณะให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม แต่ถ้าหากมีฟันผุรุนแรง มีการสูญเสียเนื้อฟันที่มากเกินไป อาจจะใช้วิธีอุดฟันไม่ได้ ทันตแพทย์จะเป็นผู้ที่วินิจฉัยว่าสามารถทำการรักษาโดยการอุดฟันได้อีกหรือไม่โดยการตรวจภายในช่องปากร่วมกับการเอ็กซเรย์ฟันซี่นั้นๆและฟันซี่ข้างเคียง

โดยทั่วไปทันตแพทย์จะทำการวินิจฉัย และวางแผนการรักษาว่าจะให้การรักษาโดยการอุดฟันก็ต่อเมื่อ ทันตแพทย์ได้พิจารณาแล้วว่า ฟันซี่ที่ผุไม่ลุกลามไปถึงข้างในโพรงประสาทฟัน และสภาพฟันโดยรวมของฟันซี่ที่จะอุดควรอยู่ในสภาพที่ปกติ ไม่มีอาการปวด ไม่ผุมากจนเกินไป และฟันจะต้องมีเนื้อฟันส่วนที่เหลือเพียงพอสำหรับการยึดของวัสดุที่ใช้ในการอุดฟัน

ขั้นตอนของการอุดฟัน

เริ่มแรกของขั้นตอนการอุดฟันนั้น ทันตแพทย์จะทำการตรวจสภาพฟันของคนไข้ก่อนว่า คนไข้มีปัญหาฟันมากน้อยแค่นั้น และมีฟันผุอยู่ในระดับใด สามารถทำการรักษาโดยการอุดฟันได้หรือฟัน

เมื่อพิจารณาแล้ว หากทำการอุดฟันได้ก็จะทำการกรอฟันเพื่อเป็นการเตรียมฟันให้เหมาะสมสำหรับการอุดฟัน เช่น หากฟันผุมีส่วนที่ดำ ๆ หรือมีเศษอาหารติดเข้าไป หรือฟันมีส่วนที่ผุเปื่อยยุ่ยออกมา ทันตแพทย์ก็จะกรอฟันออกเพื่อให้เหลือเนื้อฟันที่มีความแข็งแรงเท่านั้น ช่วงการกรอฟันอาจจะทำให้คนไข้รู้สึกเสียวฟันบ้าง ทันตแพทย์อาจจะมีการฉีดยาให้ก่อนทำ เพื่อลดอาการเสียวฟันจากการกรอฟัน หรืออุดฟัน

เมื่อทำการกรอฟันเรียบร้อยแล้วขั้นตอนต่อไปจะเป็นขั้นตอนการใส่วัสดุอุดฟันเข้าไปในบริเวณที่ผุ ซึ่งวัสดุที่ใช้ในการอุดฟันจะมีทั้งแบบสีตะกั่ว และสีขาวเหมือนกับฟัน สำหรับวัสดุที่มีสีตะกั่วจะเรียกว่า อมัลกัม ซึ่งเมื่อทำการอุดฟันแล้วจะทำให้ส่วนที่อุดฟันไปมีสีดำ อาจทำให้ดูไม่สวยงามมากนัก

ซึ่งในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของวิวัฒนาการทางทันตกรรม มีทางเลือกให้ใช้วัสดุที่มีสีขาวเหมือนฟันในการอุดฟัน โดยวัสดุนี้เรียกว่า เรซิน คอมโพสิต ซึ่งจะทำให้อุดฟันแล้วดูสวยงามเป็นธรรมชาติ และนอกจากนี้วัสดุ เรซิน คอมโพสิต ยังสามารถใช้ตกแต่งฟันเพื่อความสวยงามได้อีกด้วย

วัสดุที่ใช้ในการอุดฟัน

สำหรับวัสดุที่ใช้สำหรับการอุดฟัน แบ่งได้ 2 ชนิด

1. วัสดุที่มีสีคล้ายฟัน โดยส่วนใหญ่นิยมใช้ในการอุดฟันหน้า ด้วยเพราะฟันหน้าควรจะเน้นในเรื่องความสวยงามให้กับฟัน สีเดียวกับเนื้อฟัน เช่น วัสดุพวกเรซิน คอมโพสิต
2. วัสดุที่มีสีคล้ายตะกั่ว หรือ โลหะ โดยส่วนใหญ่ทันตแพทย์จะใช้วัสดุนี้สำหรับการอุดฟันหลัง ด้านใน บริเวณที่จะต้องรับแรงบดเคี้ยว เรียกว่า อมัลกัม ซึ่งวัสดุอมัลกัมจะมีสีที่ทำให้ดูแตกต่างจากฟันโดยทั่วไป มีผลกระทบในเรื่องของความสวยงาม

ทั้งนี้ทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเสนอประเภทของวัสดุ และคนไข้สามารถเลือกได้ว่าต้องการใช้วัสดุใดในการอุดฟันแบบไหน โดยทั้งนี้และทั้งนั้นต้องขึ้นกับปัจจัยหลายๆด้านด้วยกัน ทั้งในเรื่องของความแข็งแรง และความสวยงาม

ข้อควรปฎิบัติหลังการอุดฟัน

หากอุดฟันโดยวัสดุสีคล้ายโลหะ วัสดุที่เรียกว่า อมัลกัม นั้น มีข้อควรปฏิบัติก็คือ

  1. ผู้ป่วยไม่ควรที่จะเคี้ยวอาหารด้านที่ทำการอุดฟันเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เนื่องจากวัสดุอมัลกัมที่ใช้อุดฟันยังไม่แข็งแรงเต็มที่ ดังนั้น จึงควรระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร เลือกรับประทานอาหารอ่อน ๆก่อน เพื่อรอให้วัสดุอมัลกัมมีความแข็งแรงเต็มที่เสียก่อน จึงจะสามารถใช้บดเคี้ยวได้ตามปกติ
  2. ต้องระวังโดยไม่ให้มีการเคี้ยวในการกระทบกับฟันในส่วนที่อุด
  3. หลังจากอุดฟันแล้วควรมาพบทันตแพทย์นัดมาตรวจดูอีกครั้งหนึ่ง เพื่อปรับแต่งให้สวยงาม และเพื่อที่ทันตแพทย์จะทำการตรวจว่าวัสดุที่ได้ทำการอุดฟันไปนั้น ยังอยู่ในสภาพที่แข็งแรง ยังมีรูปร่างที่ถูกต้อง ไม่มีการบิ่นหรือแตกหักของวัสดุอุดฟัน พร้อมที่จะสามารถใช้เคี้ยวอาหารได้ตามปกติ
  4. กรณีหากมีการแตกของวัสดุที่ได้ทำการอุดฟันไป ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ อาจจะมีแตกหักการลุกลามไปจนถึงเนื้อฟันในส่วนที่ดีรอบๆวัสดุอุดฟัน จึงควรมาพบทันตแพทย์เพราะตรวจเช็ค
  5. สำหรับผู้ที่มีอาการเสียวฟันภายหลังการอุดฟันเกิน 24 ชั่วโมง ควรงดอาหารที่ร้อนจัดหรือเย็นจัดก่อน โดยเฉพาะคนไข้มีฟันผุลึก โดยปกติแล้วคนไข้ที่ทำการอุดฟันจะมีอาการเสียวฟันที่ลดลงเรื่อย ๆ ตามระยะเวลา และถ้าหากหลังการอุดฟันเกิน 1 เดือนหากยังมีอาการเสียวฟันอีก ควรพบทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไขทันทีจะดีที่สุด เพราะไม่แน่ว่าอาการเสียวฟันนั้นอาจจะมาจากปัญหาฟันอย่างอื่นแทรกซ้อนก็เป็นได้

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า การอุดฟันจะเป็นวิธีที่ทันตแพทย์เลือกรักษาสำหรับผู้ที่มีปัญหาฟันผุเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือ เราทุกคนควรหมั่นดูแลรักษาสุขภาพฟันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

หากมีอาการผุน้อย ๆ ก็รีบมาพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที แพทย์จะแนะนำว่าสามารถอุดฟันได้หรือไม่ เพราะหากปล่อยให้ฟันผุเป็นจำนวนมาก อาจจะทำให้อุดฟันไม่ได้ และต้องรักษาฟันโดยวิธีอื่น ทั้งการรักษารากฟัน และครอบฟัน หรือแม้กระทั่งการถอนฟัน ซึ่งเป็นวิธีที่อาจจะทำให้คนไข้ต้องมีค่ารักษาเพิ่มเติมที่สูงขึ้นไปอีก

รูปตัวอย่างก่อน-หลัง เคสอุดฟันด้วยเซรามิก

รูปตัวอย่างก่อน-หลัง เคสอุดฟันด้วยเซรามิก

อุดฟันด้วยเซรามิก (Ceramic Inlay/Onlay)

การอุดฟันด้วยเซรามิก หรือเรียกอีกอย่างว่า อินเลย์ หรือ ออนเลย์ เป็นวัสดุเซรามิกที่มีความแข็งและเปราะมาก ทำขึ้นภายในห้องปฏิบัติการและนำมาเชื่อมต่อกับฟัน ทำสีให้เข้ากับสีฟันได้ มีความทนทานต่อคราบ มีผลให้ฟันคู่ลบเกิดการสึกหรือได้ง่าย การอุดฟันด้วยเซรามิกมักจะครอบคลุมเนื้อที่ฟันส่วนใหญ่ ซึ่งทันตแพทย์ไม่ค่อยแนะนำให้ใช้พอร์ซเลนอุดฟันโดยเฉพาะฟันบดเคี้ยว ฟันกราม

การอุดฟันด้วยเซรามิก จะคล้ายคลึงกับการอุดฟันโดยทั่วไป เพียงแต่มีการสูญเสียเนื้อฟันค่อนข้างมากจากฟันผุหรือฟันแตกจนเป็นโพรงขนาดใหญ่เกินกว่าทำการอุดฟันตามปกติ และมีเนื้อฟันเหลือเพียงพอที่จะบูรณะได้โดยไม่ต้องครอบฟันแต่อย่างใด

การอุดฟันโดยวิธีอินเลย์ และออนเลย์ Inlays, Onlays มีความคล้ายคลึงกับการอุดฟันโดยทั่วไป เนื่องจากกรณีที่ต้องได้รับการอุดฟันขนาดใหญ่จากฟันผุ ฟันสึก วัสดุอุดเก่าเสื่อมสภาพ ไม่เหมาะสมกับการอุดฟัน เนื่องจากวัสดุขนาดใหญ่อาจเกิดการแตกหรือร้าวจากแรงบดเคี้ยวได้

อินเลย์ และ ออนเลย์ คืออะไร

อินเลย์ คือ การอุดฟันประเภทหนึ่งที่สร้างขึ้นจากห้องแล็บ แล้วนำชิ้นงานที่ได้มายึดกับโพรงฟันที่กรอแต่งไว้ในบริเวณฟันกราม โดยโพรงฟันที่กรอเตรียมไว้จะอยู่ตำแหน่งด้านบดเคี้ยวระหว่างปุ่มฟันทั้งสองด้าน สำหรับรอยผุขนาดใหญ่ต้องมีการกรอเตรียมโพรงฟันให้ครอบคลุมบริเวณปุ่มฟัน จะมีการพิจารณาทำการอุดฟันด้วยชิ้นงานออนเลย์

ประเภทของอินเลย์ และ ออนเลย์

อินเลย์ ออนเลย์ ทำได้จากวัสดุต่าง ๆ เช่น ทอง เซรามิก และวัสดุเรซินคอมโพสิตที่มีสีเหมือนฟัน ซึ่งวัสดุอย่างทองจะให้ความแข็งแรงและทนทานสูง ส่วนวัสดุเซรามิกจะให้ความใสและความสวยงามเป็นธรรมชาติ

ขั้นตอนการอุดฟันด้วยอินเลย์ และออนเลย์

ครั้งที่ 1 – การวางแผนการรักษา และ การพิมพ์ฟัน

• ทันตแพทย์จะตรวจสุขภาพช่องฟัน เพื่อทำการวางแผนการรักษา และเลือกวัสดุที่เหมาะสมร่วมกับคนไข้

• ทันตแพทย์จะทำการกรอฟันให้มีรูปร่างที่เหมาะสม และ ทำการพิมพ์ฟัน

• เลือกสี ขนาด รูปร่างของอินเลย์ ออนเลย์ที่ต้องการ เพื่อส่งให้ห้องแลปทันตกรรม เพื่อผลิตชิ้นงาน และ รอประมาณ 5-7 วัน

• ทันตแพทย์จะทำการอุดฟันชั่วคราวให้คนไข้ใช้งานระหว่างรอชิ้นงานสำเร็จสมบูรณ์

ครั้งที่ 2 – การใส่วัสดุอินเลย์ หรือ ออนเลย์บนฟัน

เมื่อชิ้นงานใหม่จากห้องแลปทันตกรรมเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จะรื้อวัสดุอุดแบบชั่วคราวออก

ทำการติดยึด Inlays Onlays บนฟัน และตรวจเช็คและปรับแต่งให้เหมาะสมที่สุด

ข้อดีของการอุดฟันเซรามิกแบบอินเลย์และออนเลย์

• วัสดุเซรามิกที่ใช้การทำ Inlays Onlays จะไม่มีการเปลี่ยนสีจากอายุการใช้งาน

• เพื่อปกป้องเนื้อฟันที่เหลือ และป้องกันการแตกหัก

• เพิ่มความแข็งแรงให้กับฟัน มีความทนทานมากกว่าการอุดฟันแบบทั่วไป

• อีกทางเลือกแทนการครอบฟันในกรณีที่ฟันมีปัญหาไม่มากนัก

• ให้ความสวยงามและดูเป็นธรรมชาติมากกว่าการอุดฟันด้วยอมัลกัม

• วัสดุเซรามิกมีอายุการใช้งานนาน

การรักษาหลังการทำ Inlays และ Onlays

1.ทำความสะอาดด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยการแปรงฟันหลังรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง

2.ทำความสะอาดด้วยไหมขัดฟันอย่งาน้อยวันละ 1-2 ครั้ง

3.ทำการบ้วนปากด้วยน้ำยาผสมฟลูออไรด์ก่อนนอนทุกวัน โดยทำการกลั้วน้ำยาและอมไว้ในปาก 1 นาที และไม่ควรดื่มน้ำภายใน 30 นาทีหลังการบ้วนปาก

4.หลีกเลี่ยงการทานอาหารเหนียว และแข็ง บริเวณที่รักษา

5.พบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน

ดังนั้น ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีรอยผุ รอยสึก วัสดุอุดเก่าที่มีขนาดใหญ่ และต้องการบูรณะฟันโดยความสวยงามและความแข็งแรง การทำการอุดด้วยวัสดุอุดชนิดเซรามิก จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้การรักษาต้องอยู่ภายใต้ข้อบ่งชี้ในการพิจารณาการทำการรักษาโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น

ทำไมควรอุดฟันด้วยเซรามิกกับแพทย์เฉพาะทาง

  1. เพราะการอุดฟันด้วยเซรามิกนั้น มีหลายขั้นตอนที่ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้าน ต้องพิจารณาตั้งแต่เลือกการอุดฟันด้วยเซรามิกแทนวิธีการอื่น เช่น เลือกที่จะอุดฟันด้วยเซรามิกแทนการทำครอบฟัน เนื่องจากการอุดฟันด้วยเซรามิกจะสามารถเก็บเนื้อฟันที่ดีที่เหลือไว้ได้มากกว่าการทำครอบฟัน
  2. ต้องมีการกรอฟัน เตรียมพิมพ์ปาก ทั้งสองส่วนต้องสอดรับกัน เพื่อให้ชิ้นงานที่ทำออกมามีความพอดีมากที่สุด แนบสนิทกับโพรงฟันที่ได้กรอแต่งไว้ ภายหลังจากการยึดชิ้นงานเซรามิกแล้วคนไข้จะสามารถบดเคี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ความรู้สึกเหมือนธรรมชาติมากที่สุด
  3. การอุดฟันด้วยเซรามิกมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการอุดฟันทั่วๆ ไป เนื่องจากการอุดฟันด้วยเซรามิกจะมีขั้นตอนของการรักษาที่ยุ่งยาก และมีรายละเอียดมากกว่าการอุดฟันธรรมดา ร่วมกับการที่ต้องสร้างชิ้นงานจากห้องแลป หรือห้องปฏิบัติการ จึงทำให้ราคาของชิ้นงานเซรามิกสูง เพราะฉะนั้นการอุดฟันด้วยเซรามิก จึงควรได้รับการดูแลรักษาจากทันตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในทุกๆขั้นตอน รวมถึงการที่คนไข้จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำวิธีใช้งานในการบดเคี้ยว รวมทั้งแนะนำถึงข้อควรระวังต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้งาน ใช้บดเคี้ยวอาหารได้นานเท่าที่จะนานได้ ซึ่งโดยปกติก็จะสามารถอยู่ได้มากกว่า 10 ปีขึ้นไป

งานอุดฟันด้วยเซรามิกนั้น มีข้อดีดังที่กล่าวมาแล้ว และในการทำนั้นมีขั้นตอน และรายละเอียดที่แตกต่างจากการอุดฟันโดยทั่วไป ดังนั้น การเลือกปรึกษา และรับการรักษากับทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาอุดฟัน ย่อมปลอดภัย และได้คุณภาพที่พึงพอใจมากที่สุดค่ะ

คลินิกทันตกรรม สกายเทรน เด็นทัล กรุ๊ป

เคสตัวอย่าง ก่อนและหลังอุดฟัน

ดูที่ตั้งสาขาของ คลินิกทันตกรรมสกายเทรน ใกล้บ้านท่าน

คลินิกทำฟัน คลินิกจัดฟัน สุขุมวิท
คลินิกทำฟัน คลินิกจัดฟัน บางจาก
คลินิกทำฟัน คลินิกจัดฟัน สยาม
คลินิกทำฟัน คลินิกจัดฟัน อุดมสุข
คลินิกทำฟัน คลินิกจัดฟัน แบริ่ง
คลินิกทำฟัน คลินิกจัดฟัน อ่อนนุช
คลินิกทำฟัน คลินิกจัดฟัน ปุณณวิถี
คลินิกทำฟัน คลินิกจัดฟัน ราม 2 สไมล์
โปรทำฟัน
โปรจัดฟัน
เลือกสาขา