การรักษารากฟัน
การรักษารากฟัน เป็นการรักษาทางทันตกรรมเพื่อต้องการเก็บฟันไว้ หลีกเลี่ยงการถอนฟันในกรณีที่คนไข้มีปัญหาในช่องปาก หรือเกิดปัญหากับฟันขั้นรุนแรง ซึ่งในอดีตมีทางเดียวที่ทันตแพทย์ทำได้คือต้องถอนฟันซี่นั้นออก แต่ในปัจจุบันวิทยาการทางทันตกรรมได้มีการพัฒนาขึ้นมากมาย ในปัจจุบันสามารถเก็บรักษาฟันซี่ที่ถูกทำลายประสาทฟันได้ด้วยวิธีการรักษารากฟัน
ในกรณีที่คนไข้ปวดฟัน ซึ่งอาจเกิดจากมีฟันผุในขั้นรุนแรงถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อประสาทฟัน การรักษารากฟันจึงเป็นทางเลือกเพื่อที่จะสามารถเก็บฟันซี่นั้นๆไว้ได้
สัญญาณเตือนจากการปวดฟัน
การปวดฟัน มีหลายแบบ เช่น อาการปวดฟันที่เล็กน้อย หรือปวดแบบรุนแรง จนบางครั้งรุนแรงจนนอนไม่หลับ อาจมีอาการปวดฟันโดยไม่มีสิ่งกระตุ้น หรือปวดเวลามีสิ่งกระตุ้นเช่นตอนเคี้ยวอาหาร บางกรณีมีเหงือกบวม หรือมีหนองซี่ที่ปวดร่วมด้วย รวมถึงการมีฟันสีคล้ำผิดจากฟันซี่อื่น และมีอาการเสียวฟันจากความเย็นหรือความร้อน
ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการเตือนในเบื้องต้นว่า มีการอักเสบของเนื้อเยื่อประสาทฟัน นอกจากนี้ยังมีบางกรณีที่ไม่มีอาการใดๆ เตือนให้รู้เลย มารู้ตัวอีกทีก็คือฟันโยกจนเกือบจะหลุด หรือฟันแตกหักรุนแรง เหลือแต่รากฟันเท่านั้น
หากพบว่าตัวคุณมีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อตรวจ และเอ็กซ์เรย์ฟัน ซึ่งทันตแพทย์จะสามารถวินิจฉัยอาการของโรค และวางแผนการรักษาให้กับคุณได้
ทำไมต้องรักษารากฟัน
การรักษารากฟัน เป็นการรักษาเนื้อเยื่อประสาทฟันในคลองรากฟัน หรือในส่วนของโพรงประสาทฟัน ซึ่งเป็นการกำจัดประสาทฟันที่อักเสบ หรือเป็นหนองออก ส่งผลทำให้อาการเจ็บปวดหายไป
ทันตแพทย์ยังสามารถทำการเก็บรักษาฟันแท้ของคุณให้คงอยู่ต่อไปได้ โดยหลังจากที่ทำการรักษารากฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์จะต้องทำการบูรณะฟันซี่นั้นๆให้สามารถใช้เคี้ยวอาหารได้ตามปกติโดยการทำเดือยฟัน และครอบฟันต่อจากการรักษารากฟัน
สาเหตุที่ต้องทำการรักษารากฟัน
เพราะการปล่อยให้ฟันผุเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดการอักเสบลึกเข้าไปใกล้โพรงประสาทฟัน ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในน้ำลายเข้าไปในโพรงประสาทฟันและทำอันตรายต่อประสาทฟันอย่างแรง
หรือกรณีที่ฟันแตกหักที่เกิดจากอุบัตเหตุ ฟันถูกกระแทกอย่างแรง ก็อาจทำให้ส่วนปลายประสาทฟันตายได้ หากไม่ได้รักษาก็จะเกิดการอักเสบเป็นหนองที่รากฟันตามมา ทำให้เริ่มมีอาการปวดฟันซึ่งอาจจะปวดแบบเป็นๆ หายๆ หรือปวดเป็นระยะ ปวดอย่างรุนแรงจนกระทั่งนอนไม่หลับ โดยอาจจะมีอาการร่วมกับเหงือกบวมได้
ขั้นตอนการรักษารากฟัน
การวินิจฉัยและการเตรียมฟันเพื่อรับการรักษา ทันตแพทย์จะทำการเอ็กซ์เรย์ฟันเพื่อตรวจดูลักษณะของฟัน และสภาพรอบๆตัวฟันและรากฟัน รวมไปถึงบริเวณที่มีการติดเชื้อจนทำให้เกิดอาการอักเสบ
จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการรักษารากฟัน โดยจะเริ่มจากการกรอเพื่อเปิดโพรงประสาทฟันก่อน ซึ่งทันตแพทย์จะทำการฉีดยาชาเพื่อป้องกัน และลดอาการปวด หลังจากนั้นจึงทำการเปิดโพรงประสาทฟันด้วยเครื่องมือเฉพาะทาง เพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคในโพรงประสาทฟัน
เมื่อกรอเปิดโพรงประสาทฟันได้แล้ว ทันตแพทย์จะทำการวัดความยาวและขยายโพรงประสาทฟันให้กว้างขึ้น เพื่อให้เครื่องมือเข้าไปทำความสะอาดได้อย่างสะดวก จากนั้นทำความสะอาดด้วยการนำ เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายเข็ม ทำการการสอดเข้าไปในโพรงประสาทฟันเพื่อนำเนื้อเยื่อประสาทฟันที่ติดเชื้อออก
แล้วจัดการล้างทำความสะอาดกำจัดเชื้อโรค ใส่ยาฆ่าเชื้อไว้ในรากฟัน แล้วจึงทำการอุดปิดโพรงประสาทฟันชั่วคราว หากมีปัญหาที่ฟันหน้าจะใช้เวลาไม่นานเพราะมีรากฟันเพียงรากเดียว แต่สำหรับฟันหลังอาจจะต้องใช้เวลาในการทำความสะอาดนานเพราะมีจำนวนรากฟันเยอะกว่า
ทันตแพทย์อาจจะต้องนัดมาทำหลายครั้ง จนกว่าจะทำความสะอาดได้ครบหมดทุกราก หลังจากทำความสะอาดภายในโพรงประสาทฟันเพื่อให้ปราศจากเชื้อแล้ว ทันตแพทย์จะทำการอุดฟันภายในรากฟันให้แน่นเพื่อไม่ให้มีช่องว่างในรากฟันสำหรับเชื้อโรค จากนั้นจะทำการบูรณะฟันและตกแต่งฟัน ให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ดีเหมือนเดิมด้วยการทำเดือยฟัน และครอบฟันต่อไป
หลังเข้ารับการรักษารากฟัน
การรักษารากฟัน บางกรณีสามารถรักษาให้เสร็จภายในครั้งเดียวได้ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับสภาพของฟันว่ามีการอักเสบมากน้อยแค่ไหน ฟันที่รักษารากฟันแล้วควรได้รับการสังเกตุอาการไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าโรคที่เกิดขึ้นบริเวณปลายรากฟันหายดีเป็นปกติแล้ว
บางคนอาจรู้สึกปวดฟันหรือเสียวฟันเล็กน้อยได้ใน 2-3 วันแรกหลังการรักษารากฟัน โดยทันตแพทย์จะให้ทานยาแก้ปวด ร่วมกับยาแก้อักเสบเพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งอาการปวดนี้ก็จะค่อยๆ หายไปได้เอง แต่อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ
หมั่นคอยดูแลทำความสะอาดช่องปากอย่างสม่ำเสมอ และงดใช้งานฟันซี่ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการรักษา ห้ามเคี้ยวอาหารที่มีลักษณะเหนียวหรือแข็ง เพราะอาจจะทำให้ฟันแตกได้
คลินิกทันตกรรม สกายเทรน เด็นทัล กรุ๊ป