การผ่าฟันคุด
ฟันคุด คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้เต็มที่ตามปกติ โดยมากมักจะเป็นในฟันกรามซี่สุดท้าย สามารถพบได้ทั้งฟันบน และฟันล่าง แต่ส่วนมากฟันล่างจะมีโอกาสพบว่าเป็นฟันคุดได้มากกว่า
การผ่าฟันคุดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดกัน แต่โดยทั่วไปเวลาคนไข้ที่มีฟันคุดไปพบทันตแพทย์ มักจะมีอาการปวดร่วมด้วยเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีส่วนน้อยที่คนไข้จะพบว่าตัวเองมีฟันคุด โดยที่ยังไม่มีอาการ คือ กรณีที่คนไข้ที่จะจัดฟัน แล้วพบว่ามีฟันคุดจากฟิล์มเอ็กซเรย์เพื่อจัดฟัน ซึ่งในกรณีนี้คือคนไข้จะยังไม่มีอาการใดๆ
ความยากง่ายในการผ่าเอาฟันคุดออก จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของฟันว่าเป็นการฝังลึกลงไปในกระดูกมากน้อยแค่ไหน และมีความเอียงมากแค่ไหน หรือนอนตะแคงเลย และถ้าฟันคุดยิ่งฝังลึกลงไปมาก หรือมีความเอียงมากก็จะยิ่งทำได้ยาก
ตรวจพบว่ามีฟันคุดควรรีบนำออก
ส่วนใหญ่คนไข้ที่มีปัญหาเรื่องฟันคุด ในระยะแรกมักจะไม่มีอาการใดๆ ทำให้คนไข้มักจะปล่อยให้มันเป็นแบบนั้นโดยที่ไม่ได้ทำอะไร เพราะแม้จะปล่อยไว้แต่หากไม่ปวด ฟันคุดมันก็ไม่ได้ทำอันตรายหรือมีผลข้างเคียงใดๆ
แต่ถึงกระนั้นหากเราไม่สามารถทำความสะอาดบริเวณฟันคุดและรอบๆฟันคุดให้ดี ก็จะมีโอกาสเกิดการอักเสบของเหงือกบริเวณนั้น บางรายเป็นไม่เยอะก็ทนได้ บางรายเป็นเยอะ ปวดบวมเป็นหนองทรมานมาก
จึงขอแนะนำว่า ถ้าตรวจพบว่ามีฟันคุด แนะนำให้เอาออกตั้งแต่ระยะที่ยังไม่มีอาการใดๆ ไม่ต้องรอให้มีอาการปวด หรือ อักเสบจนทนไม่ไหวแล้วค่อยมาเอาออก ซึ่งคนไข้ส่วนมากชอบรอให้ปวดมากๆ จนมันไม่ไหวแล้วจริง ๆ ค่อยมาเอาออก ถึงตอนนั้นก็เกิดการอักเสบเป็นหนองแล้ว ยาชาจะออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร ทำให้อาจจะรู้สึกเสียวฟัน ในขณะที่ทันตแพทย์กำลังเอาฟันคุดออก
ขั้นตอนการผ่าฟันคุด
- ก่อนถอนฟัน ถ้าหากคนไข้ที่จะถอนฟันมีโรคประจำตัวบางโรคที่มีผลต่อการหายของแผลติดเชื้อ และการหยุดของเลือด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคที่ต้องทางยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด คนไข้ควรบอกทันตแพทย์ก่อนที่จะทำการถอนฟัน เพื่อที่ทันตแพทย์จะได้ทำการประเมินว่า สามารถถอนฟันได้เลยหรือไม่
- หากผู้ป่วยมีการแพ้ยาไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม ควรบอกแพทย์ทันที
- ทันตแพทย์จะทำการเอ็กซเรย์เพื่อดูฟันคุด และดูโครงสร้างกระดูกบริเวณรอบๆของฟันคุดซี่ที่จะทำการเอาออก
- เมื่อพร้อมแล้วทันตแพทย์ทายาชาที่เหงือกบริเวณที่จะฉีดยาชา เพื่อลดความเจ็บที่เกิดจากการฉีดยาชา จากนั้นจึงค่อย ๆ ฉีดยาชาอีกครั้ง และรอระยะเวลาให้ชาเต็มที่
- ระยะเวลาการผ่าแล้วแต่ความยากง่าย บางคน เกือบชั่วโมง บางคนก็ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็มี ขึ้นกับความยากง่ายของฟันคุดแต่ละซี่ด้วย
- หลังจากผ่าเสร็จแล้ว อีก 7 วันทันตแพทย์จะนัดมาดูแผล และตัดไหมที่เย็บไว้
- ทันตแพทย์จะให้ยาแก้ปวดหรือแก้อักเสบ รวมถึงการให้ยาลดอาการบวม และ อาการทุกอย่างจะหายเป็นปกติภายใน 3- 7 วัน
สิ่งที่ควรระวังอีกข้อสำหรับกรณีที่มีฟันคุดแต่ไม่เอาออก นอกจากอาจจะทำให้ มีอาการปวดบวม สิ่งที่จะตามมาอีกอย่างที่สำคัญคืออาจจะทำให้ฟันซี่ที่อยู่ติดกันข้างๆผุได้ ถ้าเราทำความสะอาดได้ไม่ดีพอ เพราะว่าบางครั้งฟันคุดขึ้นมาไม่ตรง ทำให้ลักษณะการชนกันระหว่างฟันคุดกับฟันซี่ข้างๆที่อยู่ติดกันไม่ถูกต้องเหมือนฟันซี่อื่นๆทั่วไป ทำให้มีเศษอาหารติดบ่อยเวลาเคี้ยวอาหาร ร่วมกับอาจจะทำความสะอาดไม่ได้ หรือทำได้แต่อาจจะไม่ทั่ว จึงส่งผลทำให้ฟันซี่ที่ติดกันมักจะผุ กว่าจะตรวจพบบางทีก็สายไปเสียแล้ว และอาจทำให้อุดไม่ได้ ต้องทำการรักษารากฟันอีก หรือเผลอ ๆ กลายเป็นว่าจะต้องถอนที่ฟันคุด และ ฟันข้าง ๆ ไปด้วย
การมีฟันคุดอาจจะเกิดเป็นถุงน้ำรอบ ๆ ฟันคุด ซึ่งหากฟันคุดมีการอักเสบที่รุนแรง เชื้ออาจจะลามลงไปถึงบริเวณลำคอได้ ซึ่งถือว่าค่อนข้างอันตรายมาก และคนไข้จะทรมานจากการปวดมากทีเดียว เพราะฉนั้นหากตรวจพบว่ามีฟันคุด ควรรีบมาผ่าออกอย่าเก็บไว้ หรือรอให้มีอาการ เพราะการเก็บฟันคุดไว้ นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ยังมีโทษอีกด้วย ยิ่งทำการเอาฟันคุดออกตอนอายุ น้อย ๆ ยิ่งเอาออกง่าย ผลแทรกซ้อนก็น้อย
คลินิกทันตกรรม สกายเทรน เด็นทัล กรุ๊ป