การถอนฟัน
การถอนฟันเป็นวิธีการรักษาทางทันตกรรมที่ทันตแพทย์จะทำให้ในกรณีดังต่อไปนี้
- ฟันผุขั้นรุนแรง เนื้อฟันที่ดีเหลือน้อยมาก ไม่พอที่จะทำการบูรณะได้
- ฟันโยก เป็นโรคปริทันต์ขั้นรุนแรง กระดูกรอบๆตัวฟันถูกทำลายไปมากจนไม่สามารถรักษาได้
- ถอนฟันเพื่อการจัดฟัน
- ถอนฟันน้ำนมในกรณีที่ฟันน้ำนมนั้นไม่หลุดตามปกติ ทำให้ฟันแท้ไม่สามารถขึ้นมาได้
- ฟันที่แตก หัก ซึ่งอาจจะเกิดจากอุบัติเหตุ และเหลือเนื้อฟันไม่เพียงพอให้บูรณะต่อไปได้ หรือ ฟันแตกหักร่วมกับมีรากฟันแตกหัก หรือร้าวร่วมด้วย และทันตแพทย์พิจารณาดูแล้วว่าไม่สามารถเก็บไว้ได้
- ฟันคุด ที่ไม่สามารถขึ้นมาเต็มๆซี่ได้ หรือไม่สามารถขึ้นมาในตำแหน่งหรือทิศทางที่ถูกต้องได้
- ฟันคุด ที่ไม่สามารถทำความสะอาดได้ด้วยตัวเอง
- ฟันคุด ที่ไม่มีคู่สบ
ข้อควรปฏิบัติก่อนการถอนฟัน
ก่อนถอนฟัน ถ้าหากคนไข้ที่จะถอนฟันมีโรคประจำตัวบางโรคที่มีผลต่อการหายของแผลติดเชื้อ และการหยุดของเลือด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคที่ต้องทางยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด คนไข้ควรบอกทันตแพทย์ก่อนที่จะทำการถอนฟัน เพื่อที่ทันตแพทย์จะได้ทำการประเมินว่า สามารถถอนฟันได้เลยหรือไม่ หากผู้ป่วยมีการแพ้ยาไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม ควรบอกแพทย์ทันที
ขั้นตอนของการถอนฟัน
ระหว่างถอนฟัน แพทย์จะทำการเอกซ์เรย์ฟัน เพื่อที่จะประเมินถึงความยาว รูปร่างและตำแหน่งของฟัน รวมถึงกระดูกบริเวณรอบฟัน โดยข้อมูลที่ได้ จะทำให้ทันตแพทย์สามารถประเมินความยุ่งยากในกระบวนการถอนฟันได้ อันนำไปสู่การวางแผนการรักษาว่าสามารถถอนฟันด้วยวิธีธรรมดาแบบทั่วไปได้หรือไม่ หรืออาจจะต้องส่งตัวไปหาศัลยแพทย์ช่องปากโดยตรงในกรณีที่ประเมินแล้วว่าฟันที่จะถอนนั้นอาจจะมีความผิดปกติ หรือซับซ้อนมากเกินไป
ก่อนที่จะทำการถอนฟัน ทันตแพทย์จะทำการทา หรือพ่นยาชาก่อนที่จะทำการฉีดยาชาในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับฟันซี่ที่จะทำการถอนฟัน ซึ่งโดยปกติแล้ว การถอนฟันคนไข้จะมีความรู้สึกชา และจะรับรู้ได้ถึงแรงกด หรือแรงดึงเท่านั้น จะไม่รู้สึกเจ็บ
สำหรับการปฏิบัติตัวระหว่างถอนฟัน ควรอ้าปากให้กว้าง ไม่เกร็งจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ขากรรไกรค้างได้ สำหรับกรณีที่แพทย์เห็นว่า ฟันที่จะถอนอาจจะถอนยาก แพทย์อาจจะมีการกรอแบ่งฟันร่วมด้วย และในบางครั้งอาจจะมีการเย็บแผลด้วยถ้าทันตแพทย์เห็นว่าแผลถอนฟันมีขนาดใหญ่และกว้าง
หลังใส่ยาชา จะมีอาการชาต่อไปอีกราว 2-3 ชั่วโมง
ข้อควรปฏิบัติหลังการถอนฟัน
เมื่อแพทย์ทำการถอนฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ควรจะปฏิบัติหลังการถอนฟัน ดังนี้
- ควรกัดผ้าก๊อซต่อไปราว 30 นาทีเพื่อห้ามเลือด หลังจากนั้นหากมีเลือดไหลอีก ก็ให้เปลี่ยนผ้าก็อซชิ้นใหม่ และกัดผ้าก๊อซต่อไปจนกว่าเลือดจะหยุดไหล โดยปกติก็ประมาณ 1-2 ชั่วโมง สำหรับกรณีที่มีเลือดออก
- ไม่ควรบ้วนน้ำภายใน 12 ชั่วโมง หากต้องการบ้วนปากควรจะปฏิบัติหลังจากการถอนฟันแล้ว 12 ชั่วโมง
- หลังการถอนฟันผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดฟัน ซึ่งแพทย์จะสั่งยาแก้ปวดให้เพื่อเป็น
การบรรเทา หรือควบคุมอาการปวด หรือในกรณีที่ทันตแพทย์คิดว่า แผลถอนฟันนั้นอาจจะเกิดการติดเชื้อได้ ทันตแพทย์ก็จะให้ทานยาฆ่าเชื้อร่วมกับผ้าแก้ปวดด้วย - แนะนำให้ทำการประคบเย็นที่บริเวณแก้มที่ต้องกับตำแหน่งฟันที่ถูกถอน วิธีการคือนำถุงน้ำแข็งประคบตรงหน้าบริเวณที่ถอนฟันราวครั้งละ 15 นาที อาการปวดฟันจะบรรเทาลง และช่วยลดการบวมของแผลถอนฟันได้เช่นกัน
- ในช่วง 2-3 วันแรกผู้ถอนฟันควรเลือกรับประทานอาหารให้เป็นอาหารอ่อน ๆ และรสไม่จัด ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงการสูบบุหรี่ด้วย
- หลังรับประทานอาหารผู้ถอนฟันสามารถแปรงฟันได้ตามปกติ แต่ควรระมัดระวังเวลาแปรงบริเวณแผล เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนเหงือกบริเวณแผลถอนฟัน และรอบๆแผลถอนฟัน
คลินิกทันตกรรม สกายเทรน เด็นทัล กรุ๊ป